099-449-5699
099-449-5699 [Call Center]
Line ID: @CGDESIGN
cgdesignschool@gmail.com
CGDesignPage


แนวคิดและหลักการในการทำภาพสถาปัตยกรรม 3 มิติ

หลักในการทำงานด้าน 3 มิติในงานออกแบบด้านสถาปัตยกรรม หรือในงานด้านการออกแบบเราควรคำนึงในเรื่องของการทำงาน หรือลำดับความคิดเป็นหลัก ก่อนเริ่มทำงานทุกครั้ง เพราะถ้าเราคิดวางแผนแนวความคิด (Concept Design) และ ภาพผลลัพธ์สุดท้ายของการทำงานจะทำให้ภาพ 3 มิติหรืองานออกแบบที่ทุกคนต้องการเป็นผลงานที่มีคุณภาพ และตรงตามใจปรารถนา ฉะนั้นผู้เขียนขออธิบายหลักการในการทำงานได้ดังนี้ INTERFACE ส่วนประกอบของโปรแกรมในแต่ละส่วนเราจะต้องจดจำหลักในการทำงาน ขั้นตอน หรือลักษณะของหน้าตาของโปรแกรมว่าแต่ละส่วน ๆ ประกอบด้วยอะไรบ้าง ตรงไหนเรียกว่าอะไร เพื่อประโยชน์ในการเรียนรู้ของตัวเอง ไม่ว่าจะอ่านใน Webboard อ่านหนังสือทั้งไทยและเทศ หรือ สนทนากับกลุ่มคนหรือผู้มีความรู้ประสบการณ์ทำงานด้าน 3 มิติ เพราะบางครั้งเราจะได้มี Idea ในการทำงาน เพราะบางครั้งเค้าคุยกันเรื่องอะไร ต้องไปคลิกที่ Command Panel ตัวไหน อย่างน้อย เราก็ลักจำมาปรับงานของตัวเองได้ แม้กระทั่งในเรื่องของคำสั่งหรือ Shortcut ในการทำงาน พยายามใช้บ่อยๆ เพราะจะได้เกิดความชำนาญ ผลจากการสำรวจ AKEpost ปรากฏว่า ร้อยละ 110 เปอร์เซนต์ ผู้ที่ใช้ Shortcut จะทำงานได้เร็วและเมพมากกว่าคนที่ใช้ทูลบาร์หรือเมนูบาร์มากกว่า

Modeling เป็นสิ่งที่สำคัญมากในการออกแบบ เพราะ งานออกแบบจะสวยหรือ Perfect ได้ขึ้นอยู่กับการออกแบบที่ดีและถูกต้องตามหลักการออกแบบสถาปัตยกรรม ฉะนั้นสิ่งที่สำคัญเป็นอันดับแรก คือ ความถูกต้องโมเดล เพราะถ้าทำโมเดลผิดไม่ว่าจะเป็นเรื่องของระยะหรือสัดส่วน ก็หมายถึงเราอ่านแบบไม่ขาด (ไม่ขาด แปลว่าไม่เข้าใจลักษณะ วิธีการ ส่วนประกอบของงาน) ถ้าเป็นงานออกแบบของเราและ Present ลูกค้าของเราก็ไม่เท่าไร เพราะเราสามารถพูดอธิบายว่าต้องการออกแบบแบบนี้ไปเพื่ออะไร แต่ถ้าเรารับงานทำภาพ 3 มิติจากลูกค้าจะต้องทำให้ถูกแบบที่ลูกค้าให้มากที่สุด ที่จะเป็นไปได้ ถึงจะมีการแก้ไขตามมาก็เป็นเรื่องธรรมดาของงานออกแบบ ก็อย่าไปหงุดหงิด เพราะ ลูกค้าคือพระเจ้า และถ้าหงุดหงิด ไม่แก้ก็จะทำให้เสียเครดิตในการทำงานได้ เพราะบางครั้งแบบยังไม่นิ่ง หรือ ยังไม่ได้เคลีย์แบบ อาจจะเป็นเราที่ต้องช่วยลูกค้าในการสร้างสรรค์งานออกแบบให้ชัดเจนและถูกต้อง หรือ อีกเรื่อง คือ งานที่ดีต้องเห็นในส่วนของ Detail อย่างชัดเจนไม่ว่าจะเป็นผนังเซาะร่อง, บัวเชิงผนัง หรือส่วนประกอบเล็กๆ น้อยๆ นั้นๆ ก็จะแสดงถึงความใส่ใจและประณีตของเราได้

Material วัสดุพื้นผิวในงานออกแบบนั้นมีส่วนสำคัญมากในงานออกแบบนอกจากตัวอาคารที่สวยงามแล้วนั้น วัสดุที่เลือกใช้ไม่ว่าจะเป็นสีหรือพื้นผิวต่างๆ ควรเลือกใช้ให้เหมาะสมกับงานออกแบบนั้นๆ ถ้าเราคิดว่า บ้าน 2 ชั้น มีหลังคาปั้นหยา ...ง่ายๆ ถ้าเราออกแบบใส่สีเข้าไปในงานโดย ชั้น 1 สีแดง, ชั้น 2 เหลือง, หลังคา สีเขียว แถวนั้นคงต้องรถติดแน่ๆ เพราะอาจคิดว่าบ้านหลังนั้นเป็น....สัญญาณไฟจราจรแน่ ๆ หรือแม้แต่ในเรื่องของ วัสดุต่างๆ ควรคำนึงถึงความเป็นจริง เช่น ถ้าเราต้องการใส่น้ำในบ่อน้ำ, บึง, สระว่ายน้ำหรือ ทะเลสาบ เราจะคิดถึงอะไรบ้าง ? อย่างแรก คือ สีของน้ำ บางคนอาจจะจำใน ซีรีบรัมในสมองไปแล้ว ว่าต้องเป็นสีฟ้า แต่ถ้าผมถามเล่นๆ ว่าแม่น้ำเจ้าพระยา...น้ำสีอะไร ใครตอบว่าสีฟ้า....นั่นแหละแปลว่า คุณไม่ช่ายคนกรุงเทบบแน่น๊อน...และถ้าเราพูดถึงความใส บางคนอาจจะให้น้ำมีความใสมากๆ แต่ถ้าเราทำน้ำในคลอง เราจะใส่ให้มันใสหรือไม่..ลองคิดดู อีกข้อคือ การสะท้อน (Reflection) ของน้ำว่าควรที่จะมีเปอร์เซ็นต์การสะท้อนมากน้อยแค่ไหน ตอนกลางวันหรือกลางคืนสะท้อนมากกว่ากัน ที่กล่าวมาไม่ได้หมายถึงน้ำอย่างเดียวอาจจะรวมถึงกระจกในงานออกแบบด้วยว่าตอนกลางวันหรือกลางคืน จะใสหรือสะท้อนมากแค่ไหนฉะนั้นสิ่งนึงที่เราจะรู้ได้คือการสังเกตจากความเป็นจริง เพราะใน 3DSmax นั้น มีความสามารถในการประมวลผลในรูปแบบต่างๆ เพื่อให้วัสดุเกิดความสมจริงขึ้นมา ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของการสะท้อน, การหักเห, ความขรุขระ, ความใส ฉะนั้นเราก็ควรใช้ความสามารถตรงนี้ของโปรแกรมใส่วัสดุให้อาคารมีความสมจริงมากที่สุด

Camera มุมมอง ความใกล้ไกล องค์ประกอบ ของภาพในงานออกแบบสถาปัตยกรรมก็เปรียบเสมือนการถ่ายภาพ ถ้าเรามีกล้องดีๆสักตัวแต่ถ่ายภาพออกมายังไงก็ไม่สวย ไม่ได้หมายถึงกล้องไม่ดี แต่หมายถึงฝีมือของผู้ถ่ายไม่ได้เรื่องมากกว่า อย่าไปโทษกล้อง!!! ฉันท์ใดก็ฉันท์นั้น ในงาน 3 มิติ ก็เหมือนการถ่ายภาพแต่แตกต่าง คือ เราต้องสร้างงานออกแบบที่ต้องการเอง, จัดสวน, ใส่บรรยากาศเอง, ต้องจัดมุมมอง, จัดองค์ประกอบให้สวยงามเอง แต่ ไม่ต้องรอแสง รอตะวัน ไม่ต้องปรับความไวแสง หรือ ค่า F- Number ใดๆ ทั้งสิ้น แต่อาจจะต้องกำหนด เลนส์ว่าจะเอาแบบกี่ mm. สัดส่วนของภาพแนวตั้ง แนวนอน เพื่อให้เหมาะสมกับ Space นั้นๆ แต่ต้องฝึกถ่ายรูปหรือตั้งกล้องบ่อยๆ จนเกิดความชำนาญและเกิดมุมมองที่ได้มาตรฐาน และเป็นเอกลักษณ์ของตัวเอง จะสังเกตจากรูปด้านข้างนี้ ว่าเราจะ Present มุมมองของห้องสักห้องไม่จำเป็นต้องมีระบบที่ชัดเจน แต่เราต้องการ Present อะไรบ้าง อย่างรูปต้องการให้เห็นถึงการจัดวาง Furniture หรือ Space ของห้องนั้นๆ และห้องครัวถ้าต้องการแสดงถึงตำแหน่ง Function ของแต่ละส่วน เราก๊สามารถตั้งกล้องหรือจัดเหมือน 2 รูปด้านล่างก็จะเป็นมุมมองให้น่าสนใจได้เหมือนกัน

Environment สภาพแวดล้อมบริเวณโดยรอบหรือของตกแต่งภายในอาคาร ได้แก่ Background, ต้นไม้, รถ คน, ถนน, ทางเดินเท้า, โคมไฟข้างถนน, หน้าบ้าน, แผ่นหินทางเดิน, รั้ว, อาคารข้างเคียงต่างๆ ฯลฯ ถ้าเป็นภายในอาคาร คือ ของตกแต่ง (Props) เช่น กรอบรูป, โถ, แจกัน, ผ้าม่าน, พรม ฯลฯ ซึ่งสิ่งต่างๆ เหล่านี้ จะทำให้อาคาร หรือ งานออกแบบสมจริงมากขึ้น แต่ในการจัดองค์ประกอบของภาพไม่ควรโล่งจนเกินไปนัก และก็ไม่ใช่ว่า สักแต่ใส่ให้แน่นๆ รกไปหมด...ทุกอย่างควรมีความพอดี และในการจัดองค์ประกอบควรคิดถึงระดับการเห็น ระยะ Foreground , Background มิติความลึก ลักษณะรูปทรงของต้นไม้ที่นำมาจัดว่างแล้วเข้ากันได้กับงานออกแบบ ของตกแต่งให้เหมาะสมกับงานแต่ละประเภท ซึ่งถ้าพูดกันง่ายๆ คือ ทุกคนต้องหมั่นฝึกฝน ทำงานบ่อยๆ จะทำให้สายตาและประสบการณ์ของเราเป็นระดับเทพ มากขึ้น

Lighting แสงเป็นส่วนประกอบสำคัญของงานออกแบบที่ทำให้งานเกิดมีมิติ สีสัน บรรยากาศ ความรู้สึก เมื่อเราเข้าไปสัมผัสในสถานที่นั้นๆ หรืออีกอย่างเพื่อตอบสนองผู้ใช้งานหรือ User เพื่อก่อให้เกิดความสวยงาม แต่การที่เราคิดว่าจะใส่แสงหรือไฟโดยใช้โปรแกรมเข้าช่วยแล้วจะทำให้งานดีขึ้น แต่นั่นเป็นสิ่งที่คิดผิดอย่างมหันทร เพราะสิ่งที่สำคัญที่ทำให้งานเกิดความสวยงามและบรรยากาศได้นั้น เราต้องจินตนาการและออกแบบ Design ให้กับ Space นั้นๆ หรือห้องนั้นก่อนว่า ตำแหน่งช่องแสง ดวงโคม ว่าต้องการอยู่ไหนบ้าง สีของแสงเป็นสีอะไร ก่อให้เกิดความรู้สึกอย่างไร หลังที่จากเราคิดเสร็จและจินตนาการแล้ว ค่อยนำไฟ Standard Light และ Photometric Light ของโปรแกรมดัดแปลงปรับค่าจนได้ภาพที่ต้องการ เน้นว่าอย่าใจร้อน เพราะเมื่อนั้นงานของเราก็จะเหมือนงานเผาๆ เช่นกัน และในการวางตำแหน่งของไฟส่วนใหญ่เราจะวางตามความเป็นจริงว่าตำแหน่งของดวงโคมอยู่ที่ตรงไหน ดังนั้นเราก็ต้องศึกษาหรืออ่านแบบแปลนไฟฟ้า ว่าผู้ออกแบบ ออกแบบไว้ตรงไหนบ้าง เพราะจะได้ตำแหน่งของแสงที่ถูกต้อง แต่ในบางครั้งอาจจะมีหลอกไว้บ้างตบแสงเพิ่มบ้าง เพื่อความสวยงามของภาพแต่อย่าให้เวอร์เกินไป

ในปัจจุบันการออกแบบเรื่องแสงในงานออกแบบนั้นมีโปรแกรมเสริมหรือเรียกง่ายๆ ว่า Plug - in เข้ามาช่วย เช่น Vray, Final render, Maxwell, Fryrender ซึ่งเป็นตัวเสริมเข้าไปใน โปรแกรมอีกที ไม่ได้ติดเข้ามาในตัวโปรแกรมตอนแรกเหมือนกับ Mental Ray แต่ Plug-in แต่จะช่วยในการ Render ภาพให้เกิดความสมจริงๆ หรือเหมือนของจริงๆ คล้ายกับที่เราไปถ่ายรูปจากสถานที่จริงมาเลยแหละ แต่ถ้าเราไม่เข้าใจพื้นฐานในเรื่องของการจินตนาการหรือเรื่องพื้นฐานของแสงแล้วนั้น เอาโปรแกรมมาลงไว้ก็ไร้ค่า แต่ถ้าต้องการความชำชองชำนาญและเราต้องฝึกฝนบ่อยๆ อาจจะทำให้เวลาในการจัดแสงได้เร็วขึ้น และควบคุมบรรยากาศได้อย่างที่ใจนึก แต่ส่วนใหญ่แล้ว ขอแนะนำว่าต้องอาศัยระยะเวลาอย่างมากมาก อดทน เก็บประสบการณ์ นอกจากต้องพัฒนาในเรื่องของโปรแกรมแล้ว ต้องพัฒนาสมองซีกขวาอีกด้วย ถึงจะลึกซึ้งในเรื่องของแสงได้เป็นอย่างดี

Rendering การประมวลผลสุดท้ายหลังจากที่บากบั่นทำ Model หรือวัตถุมาถึงขั้น Output งาน Final ที่เรียกว่า Render & Rendering หรือการประมวลผลนั่นเองที่บางคนอาจจะเคยได้ยินเสียงบ่นๆ ว่า Render นานจัง หรือ Render โคตรช้าเลย ซึ่งมันมีผลมาจากเครื่องคอมพิวเตอร์ของเรานั่นเอง ฉะนั้นถ้าต้องการประมวลผลเร็วๆ ก็ต้องมีเครื่องที่แร๊ง..แรงด้วย และสมควรแรงแค่ไหนคำตอบ คือ เครื่องที่ใหม่ล่าสุด ใหม่สุดๆ แรงสุดๆ นั่นเอง แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นก็ต้องมีขอบเขตด้วยว่าเราทำงานระดับไหน ถ้าทำ Box หรือ เอากาน้ำ (Teapot) มาวางๆแค่นั้น ก็ไม่ต้องใช้เครื่องที่แรงก็ด้ายยย และสุดท้ายในการทำงานเราต้องคำนึงถึงคุณภาพในการ Output งานด้วยว่าต้องการนำไปใช้ในการทำภาพนิ่ง และ งานภาพนิ่งต้องไปใช้ในงานโฆษณายังไง เช่น โปรชัวร์, แผ่นพับ, ป้าย Billboard ใหญ่ๆ หรือภาพเคลื่อนไหวเพราะบางครั้งลูกค้ามีจุดประสงค์ที่แตกต่างกัน ถ้าเราส่งงานผิดหรือไม่ถามลูกค้าก่อนอาจจะทำให้เสียเวลาในการทำงานได้ และนอกจากที่เราสามารถ Present ภาพนิ่งแล้วเราสามารถสร้างภาพแบบ Panorama 360 องศา เพื่อจะ Present รอบๆ บริเวณที่เราตั้งกล้องได้รอบทิศทาง ก็ถือว่าเป็นการ Present ที่สื่อให้เห็นถึงงานได้ดีอีกรูปแบบหนึ่ง แต่ส่วนใหญ่ไม่นิยมเพราะว่าการ Present แบบส่วนใหญ่ภาพนิ่งถือว่าเป็นการ Present ที่นิยมมากที่สุด และถ้าเราต้องการนำไปใช้กับภาพเคลื่อนไหวความละเอียดก็ต้องน้อยกว่านำไปกับงานภาพนิ่งนั่นเอง

Retouch ถ้าพูดถึงเรื่องของการรีทัชตกแต่งบรรยากาศต่างๆ เช่น คน, รถ, ต้นไม้หรือของตกแต่งต่างๆ เพื่อเพิ่มความสุนทรีย์ของภาพ ถ้าต้องใช้โปรแกรมมาช่วยในการรีทัช ก็คงไม่รอดโปรแกรม Adobe Photoshop แน่นอน ซึ่งทำไมคนถึงนิยมใช้ Photoshop เพราะว่าการทำงานและการแก้ไขรูปแบบการจัดวางจะแก้ไขได้ง่ายกว่าไม่ต้องมา Render หรือประมวลผลใหม่ แม้กระทั่งช่วยในการปรับสีแสง, ความสว่าง, มืด, คมชัดจากภาพที่ Render มาจากโปรแกรม 3dsmax แต่ส่วนใหญ่การรีทัชนั้น เหมาะที่จะใช้กับสำหรับงานสถาปัตยกรรมภายนอก มากกว่าสถาปัตยกรรมภายใน เพราะงาน Exterior ส่วนใหญ่จะอาศัยโปรแกรม 3dsmax ในการขึ้น Model ใส่วัสดุ Material และ Lighting เท่านั้น และนอกนั้นยกหน้าที่ ให้ Photoshop แต่บางงานถ้ามีความสามารถพอก็ไม่จำเป็นต้องใช้ Photoshop ก็ได้ ซึ่งจริงๆแล้ว เราสามารถตกแต่งบรรยากาศในโปรแกรม 3DSmax ก็ได้ แต่ถ้ามีการแก้ไขจะยุ่งยากมากในการทำงาน ซึ่งถ้าเราใช้การตกแต่งกับงานออกแบบที่เราออกแบบ (ตามใจตัวเองไม่ต้องตามใจลูกค้า) ก็ใส่ได้เต็มๆ เลยไม่ต้องยั้ง และอีกครั้งบางทีเราไปถ่ายรูปจากสถานที่จริงๆ มาและต้องการ แก้ไข หรือ ตกแต่งบรรยากาศ ให้ดูดีขึ้นเพื่อเป็นการดึงดูดใจ ผู้มอง เราก็อาจจะมีการผสมผสานกับ 3DSmax ก็จะทำให้การทำงานมีคุณภาพยิ่งขึ้น

ANIMATION ขั้นสุดท้ายในการทำงานออกแบบด้านสถาปัตยกรรมเพื่อให้เกิดการเคลื่อนไหว หรือเรียกว่าการ Walk Through Animation นั้น เราควรที่จะมีการทำ Story Board เพื่อวางแผนในการลำดับเรื่องราว ว่าต้องการใช้เวลาเท่าไร ต้องใช้ทั้งหมดที่เฟรม กี่ไฟล์ กี่สถานที่และตัววัตถุชิ้นไหนเกิดการเคลื่อนไหวเปลี่ยนแปลงรูปร่างหรือจะ Present ตรงไหนบ้างของงาน จะทำให้ขั้นตอนของการทำงานไวขึ้นหรือลดการผิดพลาดของการทำงานลง เพราะในการ Present งาน Animation ต้องอาศัยประสบการณ์ทั้งหมดของโปรแกรมไม่ใช่แค่ส่วนใดส่วนหนึ่ง ยังไม่พูดถึงเรื่องของการตัดต่อภาพ ใส่ Effect ใส่เสียงต่างๆ อีกมากมาย แต่ถ้าจะแนะนำคือ เราควรทำภาพนิ่งๆ ให้นิ่งที่สุดก่อน คือให้สวยและขายได้และดูแล้วได้มาตรฐานก่อนที่จะมาทำงานด้าน Animation เพราะถ้าเราทำงานไม่สวยแล้วเรานำกล้องวิ่งเข้าไปในงาน มันก็จะเห็นถึงความไม่สวยของงานอยากชัดเจนขึ้น...แต่ถ้าไม่ได้บอกว่า..ไม่ให้ทำนะครับ...เราต้องปรับปรุงและพัฒนาขึ้นไปเรื่อยๆ และอย่าท้อถอย

หลังจากที่เราได้เข้าใจถึงหลักการเบื้องต้น ก่อนเริ่มต้นทำงานแล้ว เราควรที่จะฝึกฝนตามลำดับขั้นตอนของการทำงานเพื่อให้เกิดทักษะ และประสบการณ์มากขึ้น ซึ่งถ้าเรายิ่งรับงาน ทำงานมากหลากหลายอย่าง หลากหลายประเภท ผลงานออกแบบยิ่งมากขึ้น สิ่งที่เราอยากได้จากโปรแกรมนี้ ก็ตามมามากด้วยโดยไม่รู้ตัวเลยทีเดียวว่า ยิ่งทำงานยิ่งผ่านวันเวลามันก็ซึมเข้าในสมองและสายเลือดเลยทีเดียว ไม่ว่าจะเป็นความรู้ที่ได้จากการแก้ปัญหาในขณะทำงาน จนถึงสายตาที่เฉียบแหลมคมมัน เปรียบเสมือน มีดที่มีความคม แต่ไม่หมั่นรับมีด มีดเล่มนั้นก็จะทื่อได้เช่นกัน สุดท้ายหวังว่าเราทุกคนหลังจากอ่านหนังสือเสร็จ แต่ละบทผู้เขียนอย่างให้ลองทำแบบฝึกหัดอย่างตั้งใจ สุดท้ายทุกคนจะได้สิ่งที่หวังตามปรารถนา

Untitled Document